‘ธนบัตร’ ปลอดภัยแค่ไหน? ในวิกฤติ ‘COVID-19’
ธนบัตรในมือเราปลอดภัยแค่ไหน ในภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ “ไวรัสโคโรน่า2019” (COVID-19)
หลังจากหลายประเทศทั่วโลกวิตกหนัก เริ่มเลี่ยงการสัมผัสธนบัตร
ธนบัตรในมือเราปลอดภัยแค่ไหน ในภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ “ไวรัสโคโรน่า2019” (COVID-19) หลังจากหลายประเทศทั่วโลกวิตกหนัก เริ่มเลี่ยงการสัมผัสธนบัตร
ในช่วงเวลานี้ที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 หรือโรคโควิด-19 แพร่กระจายไปทั่วโลกเกินกว่า 80 ประเทศแล้ว แน่นอนว่าแต่ละหน่วยงานจะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันของประชาชน
อย่างล่าสุด “ธนาคารกสิกรไทย” ก็ประกาศหยุดให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นการชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนด (ลูกค้ายังสามารถแลกเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ตามปกติ)
โดยการประกาศหยุดแลกเปลี่ยนนี้ครอบคลุมทั้งสาขา และสำนักงานแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (FX Booth) ทั่วประเทศ โดยเริ่มมีผลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ขณะที่ระยะเวลาของการหยุดให้บริการ ระบุไว้ว่า จนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
หรือก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์ไชน่า ซีเคียวริตี้ เจอร์นัล ก็ออกรายงานมาว่า คณะกรรมการกำกับดูแลธนาคารและประกันภัยแห่งชาติจีน (CBIRC) มีการสั่งการให้ธนาคารต่างๆ ฆ่าเชื้อธนบัตรทั้งหมด และเก็บธนบัตรที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วไว้ในที่แห้งเป็นเวลาอีก 7 วัน
รวมถึงพิพิธภัณฑ์ชื่อดังและยอดนิยมในกรุงปารีสอย่าง “พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์” ก็ออกมาตรการงดรับเงินสดในการซื้อตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์ด้วยเช่นกัน หรือกรณีที่ คริสเตียน ลินด์เมเออร์ โฆษกองค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการหยิบจับ หรือสัมผัสบัตรและเหรียญเพื่อซื้อสินค้า เนื่องจากมีการเปลี่ยนมืออย่างรวดเร็ว และอาจมีเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียติดอยู่เป็นเวลาหลายวัน และแนะให้เปลี่ยนไปใช้จ่ายเงินออนไลน์หรือผ่านบัตรเครดิตแทน
ขณะที่ประเทศไทยเอง ก็กังวลเรื่องเชื้อไวรัสบนธนบัตรเช่นเดียวกัน ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงเพิ่มธนบัตรใหม่ ชนิดราคา 500 บาท แบบปัจจุบันที่มีสภาพใหม่ ยังไม่เคยผ่านการหมุนเวียนในระบบ กระจายให้กับธนาคารพาณิชย์ ทั้งเพื่อรองรับความต้องการของประชาชน และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ทั่วโลก ทำให้หลายคนเริ่มวิตกว่า ธนบัตรที่ถืออยู่ในมือ หรือใช้จ่ายนั้น ปลอดภัย สะอาดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือไม่?
เพื่อคลายความสงสัย “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จึงรวบรวมข้อมูลมาตอบข้อสงสัยเพื่อคลายความกังวลนี้
เริ่มต้นที่ “รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊ค “อ๋อ มันอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” ตอบคำถามเรื่องเชื้อโคโรน่าไวรัส อยู่บนธนบัตรได้นาน 9 วัน จริงหรือ? ไว้ว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าเชื้อโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ 2019 จะอยู่บนธนบัตรได้นานกี่วัน โดยในโพสต์นี้ยังระบุอีกว่า มีเพียงข้อมูลจากเชื้อที่ใกล้เคียงกัน อย่างเชื้อไวัรสโรค SARS และ MERS ที่พบว่าอยู่บนพื้นผิวต่างๆ เช่น โลหะ แก้ว และพลาสติก ได้นานหลายวันจนอาจถึง 9 วัน ขณะที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีชีวิตบนพื้นผิวได้เพียง 48 ชั่วโมง
แล้วมาตรการของแบงก์ชาติ มีวิธีการดูแลธนบัตรเหล่านี้อย่างไร ในภาวะวิกฤติ?
ด้านเพจเฟซบุ๊คธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ “สมบูรณ์ จิตเป็นธม” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธปท. ที่ให้สัมภาษณ์กับ จส.100 โดยเล่าถึงเส้นทางของธนบัตรในระบบว่า เวลาที่ประชาชนเอาธนบัตรไปฝากที่ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารพาณิชย์จะรวบรวมได้จำนวนหนึ่ง และจะนำมาฝากต่อที่แบงก์ชาติ หากเป็นธนบัตรที่เก่ามากๆ ธนบัตรเหล่านั้นจะถูกปล่อยเข้าสู่กระบวนการการทำลายอยู่แล้ว ส่วนธนบัตรที่ยังคงคุณภาพดี สะอาด หรือยังมีความแกร่งของเนื้อกระดาษอยู่ แบงก์ชาติจะเก็บรวบรวม โดยอยู่ในระบบนี้ประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะส่งออกไป ขณะเดียวกันก็ยังมีการผลิตธนบัตรใหม่ๆ ออกมาด้วย
เชื้อโรคโควิด-19 เวลาที่อยู่บนผิวสัมผัส เช่น กระดาษ และพลาสติก กว่าเชื้อจะตายใช้เวลาแตกต่างกัน หากเชื้อโรคอยู่บนผิว เช่น พลาสติก เชื้อโรคอยู่ได้ถึง 9 วัน แต่ถ้าเป็นผิวกระดาษ ถ้าอยู่ในอุณหภูมิห้องจะมีชีวิตอยู่ประมาณ 5 วัน ดังนั้นถ้าธนบัตรหมุนเวียนเข้ามาอยู่ในแบงก์ชาติ และแบงก์ชาติมีเวลา 14 วันกว่าจะส่งออกไป เชื้อก็น่าจะตายไปแล้ว
“สมบูรณ์” กล่าวอีกว่า มีบทวิจัยเชิงวิชาการวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจว่า เชื้อโรคโควิด-19 เวลาที่อยู่บนผิวสัมผัส เช่น กระดาษ และพลาสติก กว่าเชื้อจะตายใช้เวลาแตกต่างกัน หากเชื้อโรคอยู่บนผิว เช่น พลาสติก เชื้อโรคอยู่ได้ถึง 9 วัน แต่ถ้าเป็นผิวกระดาษ ถ้าอยู่ในอุณหภูมิห้องจะมีชีวิตอยู่ประมาณ 5 วัน ดังนั้นถ้าธนบัตรหมุนเวียนเข้ามาอยู่ในแบงก์ชาติ และแบงก์ชาติมีเวลา 14 วันกว่าจะส่งออกไป เชื้อก็น่าจะตายไปแล้ว
ทั้งนี้หากต้องการฆ่าเชื้อก็สามารถเอาไปตากแดดได้ ส่วนที่มีคนถามว่าจะใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อธนบัตรได้หรือไม่ สามารถทำได้ถ้าทำไหว และแนะนำว่าอย่าไม่พับหรือกรีดแรงๆ เพราะตรงรอยพับจะเป็นที่สะสมของเชื้อโรคได้ง่าย และถ้ารู้สึกว่าธนบัตรค่อนข้างสกปรกแล้ว ให้นำไปฝากธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำฝากแบงก์ชาติ และแบงก์ชาติก็จะนำเข้าสู่กระบวนการต่อไป
แนะนำว่าอย่าไม่พับหรือกรีดแรงๆ เพราะตรงรอยพับจะเป็นที่สะสมของเชื้อโรคได้ง่าย และถ้ารู้สึกว่าธนบัตรค่อนข้างสกปรกแล้ว ให้นำไปฝากธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำฝากแบงก์ชาติ และแบงก์ชาติก็จะนำเข้าสู่กระบวนการต่อไป
อย่างไรก็ตาม การดูแลตัวเองเบื้องต้น นับเป็นหยทางที่จะช่วยลดความเสี่ยงได้ในระดับแรก
สิ่งสำคัญคือการล้างมือบ่อยๆ กินอาหารร้อน
รวมถึงพยายามหลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัดหรือคนพลุกพล่าน