ไวรัสโคโรน่า (COVID-19) กับอาหารการกิน
ตัวเลขผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส ณ วันที่เขียนบทความ (7 มีนาคม 2563) พุ่งสูงถึง 105,559 คน (ตัวเลขจากศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรม (The Center for Systems Science and Engineering หรือ CSSE) มหาวิทยาลัย John Hopkins University นับเป็นปรากฏการณ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
บางอย่างเป็นเรื่องไกลตัว แต่บางอย่างก็ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนธรรมดาโดยตรง อย่างเช่นเรื่องอาหารการกินที่เราหลีกเลี่ยงได้ยาก ช่วงที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ระบาดเช่นนี้ หลายคนตั้งคำถามว่า “จะปลอดภัยไหมหากจะไปกินอาหารนอกบ้าน” “ไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อกันผ่านอาหารได้หรือไม่” หรือ “ควรปฏิบัติตัวอย่างไรถึงจะปลอดภัยจากไวรัสจากพฤติกรรมการกิน” เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญมีคำตอบ
เบ็ธ เครทช์ (Beth Krietsch) นักเขียนของเว็บไซต์ The HuffintonPost ได้รวบรวมข้อแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหารและสุขภาพ
และสรุปออกมาเป็นข้อแนะนำเกี่ยวกับอาหารการกิน ดังนี้..
ติดต่อผ่านอาหารได้จริงหรือ
โฆษกของหน่วยบริการด้านความปลอดภัยและตรวจสอบคุณภาพอาหาร (FSIS – Food Safety and Inspection Service) ซึ่งสังกัดกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่า เชื้อโควิด-19 ติดต่อผ่านของเหลวและสารคัดหลั่งจากจมูกและปาก เมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือหายใจออก และเราหายใจเข้า หรือไปแตะของเหลวเหล่านั้นแล้วสัมผัสตา ปากหรือจมูก แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าเชื้อโควิด-19 ติดต่อกันผ่านอาหารหรือสิ่งห่อหุ้มอาหารได้ เบนจามิน แชปแมน (Benjamin Chapman) ศาสตราจารย์ด้าน Food Safety มหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา ยืนยันว่า ไวรัสตัวนี้ติดต่อผ่านระบบการหายใจ ดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยมากที่จะติดต่อผ่านการกินอาหาร และในอดีตก็ยังไม่เคยมีไวรัสที่ติดต่อผ่านระบบการหายใจ “ข้ามแดน” ไปติดต่อผ่านอาหารเลย
ต้องระวังตัวอย่างไรเมื่อไปซื้ออาหาร
คำตอบก็คือ ต้องระวังเมื่อสัมผัสอุปกรณ์หรือสิ่งของที่ผู้ป่วยอาจสัมผัสไว้ก่อน (และอาจมีสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยตกค้างอยู่) เช่น หากผู้ป่วยเลือกซื้อผลไม้และเผลอจามใส่ หากคุณหยิบผลไม้นั้นขึ้นมาและเผลอเอามือไปสัมผัสหน้า ตา หรือจมูก ก็มีโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ตัว ดังนั้นต้องหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอเมื่อมีโอกาส หากไม่แน่ใจว่ามือสะอาดดีหรือไม่ ก็ไม่ควรสัมผัสหน้า ตา หรือจมูก ถ้าพบคนไอหรือจามก็ควรระวังไม่เข้าไปใกล้
กินอาหารในร้านได้หรือไม่
คำตอบก็คือได้ ดอน แชฟฟ์เนอร์ (Don Schaffner) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์อาหาร มหาวิทยาลัยรัตเจอร์ส ระบุว่า แม้จะมีเชื้อโคโรนาไวรัสในอาหาร แต่เมื่อทำให้สุก ก็จะไม่เป็นไร สิ่งที่ควรระวังมากกว่าคือการอยู่ในที่ที่คนเยอะ ๆ เพราะมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะสัมผัสกับโต๊ะ เก้าอี้ จานชาม ลูกบิดประตู เมนูอาหาร และทิ้งสารคัดหลั่งไว้ อย่างไรก็ตาม มีโอกาสเป็นไปได้ที่พนักงานครัวหรือพนักงานเสิร์ฟจะฝืนมาทำงานทั้งที่ป่วย เพราะไม่ต้องการขาดรายได้
การปรุงอาหารที่บ้านต้องทำอย่างไร
ยังควรยึดหลักสุขอนามัยแบบเดิม ๆ คือ ผู้ปรุงควรล้างมือให้สะอาด ดูแลความสะอาดเรียบร้อยของบริเวณที่ใช้ปรุงและเก็บอาหาร แยกเก็บเนื้อสัตว์ดิบให้เหมาะสม และปรุงอาหารให้สุกเสมอ สำหรับข้อเตือนใจแบบไทย ๆ ก็คืออย่าลืม “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ช่วงนี้ควรงดเมนูอะไรก็ตามที่ไม่ผ่านการปรุงสุกไปก่อน
ต้องกักตุนอาหารและของใช้หรือไม่
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า กักตุนได้ แต่ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ คงยังไม่ถึงกับต้องตุนอาหารไว้กินเป็นเดือน ๆ เอาแค่เป็นสัปดาห์ก็พอ แต่ไม่ควรกักตุนอาหารจนกินไม่ทัน ส่วนหน้ากากอนามัยนั้น คนที่ควรใส่คือผู้ป่วย ผู้ที่ไอหรือจาม หรือผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วย ไม่ใช่คนทั่วไป
ที่มา : บทความ creativethailand
_____________________________
“ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ”
สำหรับช้อนกลาง แอดมินคิดว่า เมื่อใช้ช้อนกลางหลังรับประทานอาหารเสร็จ ควรล้างมือทุกครั้ง
และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ( ตา ปาก และ จมูก ) เพราะช้อนกลางก็สามารถรับเชื้อจากการสัมผัสได้เช่นกัน